23 กุมภาพันธ์ 2560
การค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่โคจรรอบดาวฤกษ์อื่นที่ไม่ใช่ดวงอาทิตย์นั้น เป็นข่าวคราวที่มีการประกาศอยู่บ่อยๆจนหลายคนอาจไม่รู้สึกน่าตื่นเต้นนัก
แต่ล่าสุดองค์การนาซาประกาศว่านักดาราศาสตร์ใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ (Spitzer Space Telescope) ค้นพบว่าดาวฤกษ์ TRAPPIST-1 ที่อยู่ห่างจากโลกเราไป 40 ปีแสงมีดาวเคราะห์ขนาดพอๆกับโลก 7ดวงโคจรอยู่! ซึ่งสามดวงในนั้นโคจรในระยะห่างพอเหมาะที่น้ำสามารถดำรงสถานะเป็นของเหลวที่ผิวดาวได้
นี่เป็นครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์พบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่น้ำมีโอกาสเป็นของเหลวเป็นจำนวนมากที่สุด ซึ่งน้ำเป็นองค์ประกอบสำคัญของร่างกายสิ่งมีชีวิตบนโลกของเราคำถามที่ว่า “โลกเราเป็นสถานที่เดียวที่มีสิ่งมีชีวิตหรือไม่?”
เป็นหนึ่งในคำถามที่มนุษย์เราอยากรู้คำตอบมากที่สุดมาช้านาน ซึ่งการค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะและการค้นพบในครั้งนี้น่าจะเป็นการก้าวกระโดดเข้าไปใกล้คำตอบนี้ครั้งสำคัญจริงๆแล้วในปี ค.ศ. 2016 นักดาราศาสตร์เคยค้นพบดาวเคราะห์รอบๆดาวฤกษ์ดวงนี้มาแล้วแต่ค้นพบเพียง 3 ดวงเท่านั้น ต่อมาจึงมีการค้นพบเพิ่มเติมอีกจนเป็น 7 ดวง
ในตอนนี้นอกจากจะค้นพบแล้ว นักวิทยาศาสตร์ยังสามารถระบุขนาดดาวเคราะห์ได้ครบทุกดวงและหามวลดาวเคราะห์ได้ถึง 6ดวง ทำให้นักดาราศาสตร์รู้ความหนาแน่นโดยเฉลี่ยของดาวเคราะห์ 6ดวงนี้ จากข้อมูลความหนาแน่นทำให้นักดาราศาสตร์เชื่อว่ามันน่าจะเป็นดาวเคราะห์หินอย่างโลกของเรา
อย่างไรก็ตาม ดาวฤกษ์ TRAPPIST-1 เป็นดาวฤกษ์ประเภทดาวแคระเย็นจัด (Ultra-cool dwarf) ที่มีขนาดเล็กกว่าดวงอาทิตย์ 10 เท่า และมีอุณหภูมิที่ผิวราวๆ 2277 องศาเซลเซียส (ในขณะที่ดวงอาทิตย์ของเรามีอุณหภูมิที่ผิวสูงถึง 5500 องศาเซลเซียส) ด้วยอุณหภูมิที่ค่อนข้างต่ำของ TRAPPIST-1 ทำให้ดาวเคราะห์ที่น้ำมีโอกาสอยู่ในสภาพของเหลวต้องโคจรใกล้กับดาวฤกษ์ดวงนี้มากพอ ซึ่งดาวเคราะห์ทั้ง 7ดวงนี้ล้วนแล้วแต่โคจรใกล้กับดาวฤกษ์ TRAPPIST-1 มากๆ (ใกล้ยิ่งกว่าระยะที่ดาวพุธซึ่งเป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดโคจรรอบดวงอาทิตย์เสียอีก)
ที่น่าสนใจคือ ดาวเคราะห์แต่ละดวงล้วนโคจรใกล้อย่างยิ่ง นักดาราศาสตร์เปรียบเทียบว่าหากเราไปยืนบนหนึ่งในดาวเคราะห์เหล่านั้น เราอาจมองเห็นผิวดาวเคราะห์หรือเมฆบนชั้นบรรยากาศของดวงเคราะห์ดวงอื่นๆได้เลย พูดง่ายๆว่าดาวเคราะห์ดวงอื่นจะปรากฏให้เห็นใหญ่กว่าดวงจันทร์บนท้องฟ้าเสียอีก
ในอนาคตอันใกล้นี้ นักดาราศาสตร์ตั้งเป้าจะใช้กล้องโทรทรรศน์อื่นๆพุ่งเป้าศึกษาชั้นบรรยากาศของพวกมันว่ามีสภาพเป็นอย่างไร และมีองค์ประกอบของน้ำอยู่จริงหรือไม่
ถึงวันนั้นคงได้เวลาประเมินกันอีกครั้งว่า มีโอกาสพบสิ่งมีชีวิตบนดาวเคราะห์เหล่านี้มากน้อยแค่ไหน
*งานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการชื่อดังอย่าง Nature
*อ้างอิง https://www.nasa.gov/press-release/nasa-telescope-reveals-largest-batch-of-earth-size-habitable-zone-planets-around
http://www.narit.or.th/index.php/astronomy-news/2874-nasa-telescope-reveals-largest-batch-of-earth-size